วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เราเจริญเติบโต



 การเจริญเติบโตของมนุษย์    




    พืชและสัตว์มีการเจริญเติบโต ตัวเราก็มีการเจริญเติบโตเช่นเดียวกับต้นพืช เมื่อก่อนเราตัวเล็ก เดี๋ยวนี้เราตัวโตขึ้น ที่เราตัวโตขึ้น เพราะเราได้กินอาหารทุกวัน อาหารที่เหมาะสม และช่วยให้เด็กๆ อย่างพวกเราเจริญเติบโตได้ดีชนิดหนึ่ง คือ นม
    การรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์จะช่วยให้ร่างกายของเราเจริญเติบโตและแข็งแรง สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าร่างกายของเรามีการเจริญเติบโต คือ การมีนํ้าหนักและส่วนสูงเพิ่มขึ้น
   ความสูงของร่างกายคนเรา จะเพิ่มขึ้นอย่างพอเหมาะกับนํ้าหนักตัวเรา เด็กผู้หญิงจะมีส่วนสูงเต็มที่เมื่อมีอายุระหว่าง 14 – 15 ปี หลังจากนั้นก็จะสูงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ส่วยเด็กผู้ชายส่วนสูงจะเพิ่มขึ้นที่เมื่ออายุระหว่าง 17 – 18 ปี หลังจากนั้นส่วนสูงจะเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย



   ร่างกายคนเรา มีการเจริญเติบโตจากวัยทารกสู่วัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ ซึ่งในแต่ละ
วัยขนาดของร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป
   การเจริญเติบโตทางร่างกายของคนเรา สักเกตได้จากสิ่งต่อไปนี้
1. นํ้าหนัก
2. ส่วนสูง
3. ความยาวของลำตัว
4. ความยาวของช่วงแขนเมื่อกางเต็มที่
5. ความยาวของเส้นรอบวงศีรษะ
6. ความยาวของเส้นรอบอก
7. การขึ้นของฟันแท้
การวัดการเจริญทางร่างกาย
1. นํ้าหนัก การชั่งนํ้าหนักเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนทำได้ง่าย เด็กที่มีนํ้าหนักลดอย่างรวดเร็ว แสดงว่าสุขภาพและ โภชนาการไม่ดี การชั่งนํ้าหนักหลายๆ ครั้ง แล้วนำมาเปรียบเทียบถึงการเปลี่ยนแปลง จะมีประโยชน์และทราบสภาพของเด็กได้ดีกว่าการชั่งนํ้าหนักเด็กครั้งเดียว เด็กที่อ้วนฉุ มีนํ้าหนักมาก ไม่ได้หมายความว่าเด็กคนนั้นมีสุขภาพดี เด็กที่มีกล้ามเนื้อสมบูรณ์จะมีสุขภาพดีกว่าเด็กอ้วนฉุและปวกเปียก
 2. ส่วนสูง การวัดส่วนสูงแสดงถึงการเจริญเติบโตของร่างกายที่แน่นอนอย่างหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงทางความสูงจะเกิดขึ้นช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของนํ้าหนัก เด็กที่สูงช้ากว่าปกติแสดงว่ามีสภาพโภชนาการไม่สมบูรณ์เป็นระยะเวลานานพอสมควร เช่น วัยทารก จะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน จึงจะเห็นว่าความสูงช้ากว่าปกติ การวัดความสูงทำให้ได้ความแน่นอนยากกว่า การชั่งนํ้าหนัก เด็กอายุตํ่ากว่า 2 ปี ต้องนอนวัดและมีผู้ช่วยคอยจับ
 3. ขนาดของสมอง สมองมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงแรกของชีวิต การประเมินขนาดของสมองอาจทำได้โดยการวัดความยาวของเส้นรอบศีรษะ ในเด็กปกติแรกคลอดมีความยาวประมาณ 35 เซนติเมตร เมื่ออายุ 1 ปี จะยาว 47 เซนติเมตร จากอายุ 1 ปีจนถึง 2 ปี จะยาวขึ้นเพียง
2-3 เซนติเมตร และมีขนาดประมาณ 55 เซนติเมตรเมื่ออายุ 6 ปีเมื่ออายุครบ 1ปี เซลล์ของสมองจะมีการเจริญเกือบสมบูรณ์แต่ทำหน้าที่ยังไม่สมบูรณ์ การทำงานของสมองจะดีหรือไม่ขึ้นกับการที่สมองได้รับอาหาร การกระตุ้น และการใช้อย่างถูกต้อง
4. เนื้อหนัง ลักษณะของผิวหนังและเนื้อทั่วไป จะบอกถึงสภาพโภชนาการว่าดีหรือเลวได้ เช่น ผิวตึง เนื้อเป่ง แขนขาเป็นปล้อง แสดงถึงความสมบูรณ์ พวกผิวหนังแห้ง มีรอยย่นตามยาวของแขนขาคล้ายริ้วปลาแห้ง มีกล้ามเนื้อและไขมันใต้ผิวหนังน้อย กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก แสดงถึงสภาพโภชนาการไม่ดี การดูสภาพเนื้อหนังนี้ เราสามารถวัดได้โดยวัดเส้นรอบวงแขน วัดความหนาของไขมันใต้ผิวหนัง หรือวัดขนาดของกล้ามเนื้อ
 5. ฟัน ฟันชุดแรกของเด็ก เรียกว่า "ฟันนํ้านม"มี 20 ซี่ จะเริ่มขึ้นตั้งแต่อายุ 6 เดือน และขึ้นครบเมื่ออายุประมาณ 24-30 เดือน การขึ้นของฟันจะมีอันดับก่อนหลังของแต่ละซี่ โดยเริ่มจากฟันหน้ากลางล่าง และสิ้นสุดที่ฟันกรามหน้า การงอกของฟันจะขึ้นกับสภาพโภชนาการของเด็ก เด็กที่ได้รับโภชนาการเลว ฟันจะขึ้นช้า ฟันชุดที่สองเรียกว่า "ฟันแท้" มีจำนวน 32 ซี่ จะเริ่มขึ้นเมื่อ อายุ 6 ปี ที่ฟันหน้าบนก่อน หลังจากนั้นก็ค่อยๆ แทนฟันนํ้านมที่หลุดไป







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น